ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา วิถีชีวิตของชาวสยามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสามัญชน หากรวมถึงพระมหากษัตริย์และบรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ด้วย ความสนใจที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตก รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ทำให้แนวคิดและวิถีแห่งกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เป็นสมมติเทพอันสูงส่ง พระราชานุกิจต่างๆ เป็นไปตามแบบแผนโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด ก็มีความผ่อนคลายลง มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 4 ซึ่งแสดงถึงพระคุณสมบัติและบุคลิกภาพเฉพาะพระองค์ ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เริ่มเสด็จประพาสและแปรพระราชฐานไปตามที่ต่างๆ เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ มีการสร้างพระตำหนักหลายแห่งนอกพระนครเพื่อเป็นที่ประทับ เช่น พระนครคีรี หรือเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยพระองค์ได้เสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ พร้อมเหล่าเจ้านายพระราชวงศ์ บ่อยครั้งเป็นการ “เสด็จประพาสต้น” คือเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยมิให้ใครรู้จัก เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของชาวบ้าน เป็นการเสด็จประพาสที่ทรงสนุกสนานสำราญพระราชหฤทัย ราษฎรมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าเหนือหัวที่ตนเคารพเทิดทูนอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองอย่างที่สุด

เรากำลังร่วมเดินทางไปในการเสด็จประพาสในครั้งกระนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่เกาะสีชัง ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและบรรดาเจ้านายผู้โดยเสด็จ ประทับทรงพระเกษมสำราญท่ามกลางแสงแดดและอายทะเล หรือที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง รวมทั้งโปรดให้จัดการแสดงละครโดยให้เจ้านายรับบทบาทต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่เสด็จประพาสต้นทั้งสองครั้ง (พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2449) และเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) อันเป็นช่วงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงประสบกับความโทมนัสแสนสาหัส ด้วยทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2447) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คู่พระทัย และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษรัชสมโภช (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2452) พระราชโอรสผู้ทรงสนิทเสน่หาและใกล้ชิดประดุจ “ธารพระกร” ทรงพระวิปโยคอาดูรถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “... จะทนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหวด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปอยู่เพชร สบายจึงจะกลับ...” ความพลัดพรากอันไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ราวกับเป็นสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ปฐมบรรพ

รหัสภาพ